วันเสาร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ขนส่ง นัดถก แพทยสภาเพิ่มกลุ่มโรคต้องห้ามทำใบขับขี่


นายอัฌษไธค์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงกรณีนายบัวลำ โง๊ะบุดดา ผู้อำนวยการโรงเรียนวังน้ำขาว อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู เกิดอาการลมชักขณะขับรถจนพุ่งชนนักเรียนเสียชีวิต 4 ราย บาดเจ็บ 7 ราย วันที่ 11 มิ.ย.2557 ว่า เตรียมหารือกับทางแพทยสภาในวันที่ 17 มิ.ย.นี้ เพื่อนำข้อเสนอของแพทยสภา มาร่วมพิจารณาในการยกร่างแก้ไขข้อบังคับใบรับรองมาตรฐานสุขภาพ (ใบรับรองแพทย์) ในการทำใบขับขี่รถยนต์ เพื่อดูว่ามีข้อเสนอใดที่นำมาสู่การปฏิบัติได้บ้าง
"การกำหนดเงื่อนไขใดๆ ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องทางเทคนิคและเกี่ยวข้องกับผู้เชี่ยวชาญด้วย จึงต้องดูรายละเอียดข้อกฎหมายให้ดี แต่จะเร่งให้มีผลบังคับใช้ได้ภายใน ก.ย.นี้ และอาจใช้บังคับทั้งรถส่วนบุคคลและรถสาธารณะด้วย"นายอัฌษไธค์กล่าว
ในส่วนข้อเสนอที่ต้องการให้ตรวจสุขภาพผู้ที่ได้ใบขับขี่ตลอดชีพเพิ่มเติม เพราะสมรรถภาพของร่างกายอาจเปลี่ยนไปจากเดิมนั้น ในทางปฏิบัติยอมรับว่าผู้ที่มีอายุมาก สภาพร่างกายการมองเห็นอาจไม่เหมือนเดิม แต่เรื่องนี้กฎหมายได้อนุญาตไปแล้ว การเพิ่มเงื่อนไขจะต้องมีการแก้กฎหมายซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบเพราะขณะนี้มีการยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ตลอดชีพไปแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันกฎหมายกำหนดโรคต้องห้ามในการขับขี่รถยนต์เพียง 5 โรค คือ ไม่เป็นโรคติดต่อเป็นที่รังเกียจ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต ไม่ติดสุรา ยาเสพติด หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอและไม่เกี่ยวข้องกับการขับรถและไม่สามารถป้องกันภัยในการขับรถ แต่ข้อบังคับใหม่ที่แพทยสภาเสนอจะเป็นโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการขับรถโดยตรง  ประกอบด้วย โรคระบบประสาท เช่น โรคลมชัก โรคกล้ามเนื้อลีบ อ่อนแรง ทั้งมือ เท้า ความพิการ โรคระบบการมองเห็น เช่น โรคตาบอดสี มองเห็นด้วยตาเพียงข้างเดียว โรคระบบการได้ยิน  โรคหัวใจและโรคเรื้อรังอื่นๆ ประวัติการผ่าตัดซึ่งแพทยสภาได้จัดทำแบบฟอร์มใบรับรองแพทย์ให้ เพื่อให้แพทย์ตรวจตามที่กำหนด
ทั้งนี้ การยื่นขออนุญาตมีใบขับขี่ กำหนดว่าต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 18 ปี บัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนา ใบรับรองแพทย์ตัวจริง ไม่เกิน 1 เดือนที่รับรองว่าไม่มีโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายขณะขับรถ ส่วนผู้ที่มีร่างกายพิการ เช่น แขนขาดข้างเดียว ขาขาดข้างเดียว ตาบอดข้างเดียว ลำตัวพิการ หูหนวก. จะต้องขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ขนส่งฯ ก่อน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ร่างข้อบังคับดังกล่าวมีการผลักดันในสมัยที่นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ เป็นอธิบดีกรมการขนส่งทางบก ตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการสรุปผลศึกษาอย่างละเอียด แต่ไม่มีการผลักดันให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากแบบฟอร์มใหม่มีข้อเสนอรายละเอียดจำนวนมาก หากบังคับใช้จริงกรมขนส่งฯอาจต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรื่องนี้ อีกทั้งผู้ขอรับใบรับรองแพทย์อาจมีภาระค่าใช้จ่ายบางส่วน ทำให้ที่ผ่านมาจึงไม่มีการพิจารณาในเรื่องนี้

ที่มาข่าว posttoday

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น